บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ความหมายของเอกายนมรรค



ความหมายของ “เอกายนมรรค” นี้ นำมาจากรายงานเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์เรื่องเอกายนมรรคในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา” โดยนายปรีชา บุญศรีตัน นักศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พระบาลีในมหาสติปัฏฐานสูตร และสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า เอกายนมรรค คือ ประโยคว่า

เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ฯ

มีสำนวนการแปลดังต่อไปนี้

1) พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับอนุสรณ์งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (2500) แปลว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้ เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับศูนย์แห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน 4 ประการ

2) พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง (2518) แปลว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งความทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้คือ สติปัฏฐาน 4 ประการ

3) พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง (2525) แปลว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งความทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คืน สติปัฏฐาน 4 ประการ

4) พระไตรปิฎกภาษาไทย พระสูตรและอรรถกถาแปล ทีฆนิกาย มหาวรรค (2525) แปลว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วงซึ่งความโศกและความร่ำไร เพื่ออัสดงค์ดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ) 4 อย่าง

คัมภีร์เล่มเดียวกันนี้ ในส่วนอรรถกถาที่อธิบายความคำว่า เอกายโน มีคำแปล ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อความที่แปลไว้ข้างต้น ดังนี้

ข้อว่า เป็นทางเดียว คือ เป็นทางเอก ในข้อว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียว นี้ จึงควรเห็นความอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้ เป็นทางเอก มิใช่ทางสองแพร่ง


5) พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา (2530) แปลว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้ เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งความทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คืน สติปัฏฐาน 4 ประการ

6) พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (2539) แปลว่า

ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโศกและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน 4 ประการ

มีเชิงอรรถอธิบายความหมายของคำว่า ทางเดียวซึ่งอ้างคำอธิบายในคัมภีร์อรรถกถา (ที.ม.อ.(บาลี) 373/359) ว่า

หมายถึง
(1) เป็นทางที่บุคคลผู้ละการเกี่ยวข้องกับหมู่คณะ ไปประพฤติธรรมอยู่แต่ผู้เดียว
(2) เป็นทางสายเดียวที่พระที่พระพุทธเจ้าทรงทำให้เกิดขึ้น
(3) เป็นทางปฏิบัติในศาสนาเดียวคือพระพุทธศาสนา
(4) เป็นทางดำเนินไปสู่จุดหมายเดียวคือ พระนิพพาน

7) พระไตรปิฎกสำหรับเยาวชน (2539) ได้สรุปความพระสูตรในประโยคดังกล่าวนี้ว่า

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่นิคมชื่อ กัมมาสทัมมะ ของชาวกุรุ (กรุงเดลีในปัจจุบัน) ในแคว้นกุรุ ทรงแสดงสติปัฏฐาน 4 แก่ภิกษุทั้งหลายในฐานะ เป็นทางสายเอก เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไปเพื่อล่วงพ้นหรือข้ามแดนแห่งความโศก ความคร่ำครวญรำพัน เพื่อความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งทุกข์โทมนัส เป็นไปเพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้ และเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง หรือรู้แจ้งพระนิพพาน

8) พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล มีคำแปลอยู่สองสำนวนคือ (1) แปลว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานหนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน 4 ประการ

และ (2) แปลว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้มรรคเป็นเอกายนะทางอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วงซึ่งโสกะ ปริเทวะ เพื่อความสาบสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุอริยมรรคเครื่องออกไปจากทุกข์ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพานนี้คือสติปัฏฐานทั้ง 4


จะเห็นได้ว่า  “เอกายน” แปลได้ 3 อย่างคือ
1) เป็นที่ไปอันเอก หรือเป็นทางที่ไปอย่างเอก
2) เป็นทางเดียว หรือ เป็นทางสายเดียว
3) เป็นทางเอก หรือ เป็นมรรคาเอก

สำหรับ “มรรค” นั้น แปลว่า “ทาง” อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ท่านได้ให้ความหมายคำว่า มรรคไว้สองความหมายคือ
1) เป็นเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน และ
2) ผู้ที่ต้องการบรรลุนิพพานควรดำเนินไป

โดยสรุป คำว่า “เอกายนมรรค” ก็ควรจะแปลว่า “ทางสายเดียว”  ถ้าถามว่า ทางไปไหน ก็คือ ทางไปอายตนะนิพพาน

คำแปลว่า “ทางสายเดียว” นี้  พระพม่ากับสาวกไม่เคยอธิบายได้เลยว่า “ทางสายเดียวนี้เป็นอย่างไร” เพราะ สติปัฏฐาน  4 นั้น มี  4 หัวข้อใหญ่ และยังประกอบด้วยหัวข้อย่อยอีกมาก

นอกจากจะอธิบายว่า “ทางสายเดียวนี้เป็นอย่างไร” แล้ว   ทางสายเดียวนี้ จะต้องเป็น “ทางสายกลาง” ด้วย  พระพม่าก็ยิ่งมึนหนักไปอีกว่า

ทางสายเดียวที่เป็นทางสายกลาง” นั้น เป็นอย่างไร  แต่วิชาธรรมกายสามารถอธิบายได้ ปฏิบัติตามได้ 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น